สัญญาณสำคัญที่บอกว่าลำไส้ของคุณอาจกำลังอักเสบ คือ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน หรือบางรายอาจมีไข้สูงร่วมด้วย หากมีอาการเหล่านี้จงอย่างนิ่งนอนใจมัวแต่กินยารักษาเอง เพราะเมื่อใดที่มีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ นั่นอาจหมายถึง “โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง” ก็ได้ ทางที่ดีควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป มิฉะนั้นคุณอาจต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการท้องเสียเรื้อรังนี้ไปตลอด
ลำไส้อักเสบเกิดได้ทั้งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นโรคที่มีการอักเสบได้ทั้งบริเวณลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ตำแหน่งที่เกิดการอักเสบจะทำให้มีชื่อโรคที่เรียกต่างกันออกไป เช่น หากมีการอักเสบทั้งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่จะเรียกว่าโรค Crohn’s disease แต่หากมีการอักเสบเฉพาะลำไส้ใหญ่เท่านั้นจะเรียกว่าโรค Ulcerative colitis ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้มีลักษณะของโรคปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไปอีก อย่างไรก็ตามไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคใดก็ล้วนแล้วแต่มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำบ่อยทั้งสิ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียสารอาหาร โปรตีน ของเหลว และเลือดไปด้วย อีกทั้งลำไส้ยังมีหน้าที่สำคัญในการดูดซึมน้ำและสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ทำให้สารน้ำและสารอาหารที่เรากินถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายลดลง เราจึงต้องเฝ้าระวังภาวะขาดสารอาหาร ขาดน้ำ น้ำหนักลด ซีด ไม่มีแรงเป็นพิเศษ
สาเหตุทำลำไส้อักเสบ
สาเหตุของการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากงานวิจัยที่มีการรวบรวมผลการวิจัยจากการศึกษา 19 ชิ้น จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยกว่า 6,600 คน (systematic review) พบว่า อาหารไขมันสูง กรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะกรดไขมันโอเมก้า 6 และการกินเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังทั้งสิ้น ในทางกลับกัน การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงไม่ว่าจะจากผักหรือผลไม้จะช่วยป้องกันการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังได้ นอกจากนี้ยังพบว่า การแพ้อาหาร ไม่ว่าจะแพ้ ไข่ ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี นมวัว หรืออาหารทะเลบางอย่างจะส่งผลต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของโรคลำไส้อักเสบได้
กินบำบัดลำไส้อักเสบ
การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มขณะโรคกำเริบอยู่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ระวังจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง ถ่ายเหลวเพิ่มขึ้นได้ แต่หากสามารถปรับรูปแบบการกินจนได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอแล้วก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบภูมิคุ้มกัน ลดอาการข้างเคียงต่าง ๆ และย่นระยะเวลารักษาและการฟื้นตัวได้อีกด้วย
เทคนิคการกินขณะโรคลำไส้อักเสบกำเริบ
เลือก |
กินทีละนิด แต่กินบ่อย ๆ |
อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด ปรุงสุก เนื้อสัมผัสนิ่ม ๆ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือใช้การสับช่วย จะทำให้ลดภาระการย่อยและการดูดซึมสารอาหารได้ |
ข้าวแป้ง ขนมปังที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว หรืออาจกินมันต้ม เผือกต้ม ฟักทองต้ม แครอทต้ม แทนข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต |
เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ไข่ ปลา หมูหรือไก่ไม่ติดมัน กุ้ง หอย และเลือกกินปลาทะเลหรือปลาที่มีชั้นผิวหนังหนา ๆ บ้าง เช่น ปลาสวาย ปลาดุก เพราะไขมันจากปลามีโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบในลำไส้ได้ |
ผักนิ่ม ๆ เช่น ผักกวางตุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง โดยนำไปนึ่งแทนการต้มสุก เพื่อสงวนวิตามินและเกลือแร่เอาไว้ให้ได้มากที่สุด |
ดื่มน้ำเปล่า เครื่องดื่มเกลือแร่ที่ไม่หวานมาก หรือน้ำผลไม้เจือจาง เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปให้ได้อย่างน้อยวันละ8 แก้ว และเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายจะไม่ขาดน้ำ ผู้ป่วยสามารถเช็คอัพตนเองจากสีของปัสสาวะก็ได้ หากได้รับสารน้ำเพียงพอ ปัสสาวะจะมีสีใส แต่หากปัสสาวะเป็นสีเข้มก็ให้รีบดื่มน้ำเพิ่มทันที การดื่มเครื่องดื่มควรค่อย ๆ จิบเรื่อย ๆ |
เลี่ยง |
อาหารที่แพ้ทุกชนิดไม่ว่าจะแพ้มากหรือแพ้น้อย และต้องฝึกพิจารณาส่วนประกอบของอาหารที่กินทุกครั้งว่ามีส่วนประกอบของอาหารที่เราแพ้อยู่หรือไม่ |
หลีกเลี่ยงผักที่เคี้ยวแล้วเป็นกากใยชัดเจน เช่น ก้านผักต่าง ๆ ถั่วธัญพืชเมล็ดแห้ง เพราะเส้นใยที่เราเคี้ยวแล้วสัมผัสได้ส่วนใหญ่จะเป็นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ หากได้รับเข้าไปจะทำให้ท้องเสีย ท้องอืด ปวดท้องมากขึ้น รายที่เป็นหนักอาจส่งผลให้ลำไส้อุดตันได้ |
อาหารไขมันสูง เพราะจะทำให้ถ่ายเหลวเพิ่มขึ้นได้ |
การดื่มแบบรวดเดียวหมดหรือการใช้หลอดดูด เพราะการใช้หลอดดูดจะเพิ่มแก็สในทางเดินอาหารอาจทำให้ปวดท้องได้ |
น้ำเชื่อม น้ำผลไม้เข้มข้น รวมถึงน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น ซอร์บิทอล มอลนิทอล ไซลิทอล ซึ่งพบได้ในเครื่องดื่ม หมากฝรั่ง รวมทั้งลูกอมประเภทปราศจากน้ำตาลหรือน้ำตาลน้อยบางชนิด เพราะหากได้รับเข้าไปจะยิ่งกระตุ้นให้ถ่ายเหลวเพิ่มขึ้นได้ |
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมประเภทโคล่า โกโก้ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดน้ำ อีกทั้งสารคาเฟอีนยังสามารถกระตุ้นให้ถ่ายเหลวเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย |
นอกจากนี้ควรจัดสิ่งแวดล้อมขณะกินให้สบายเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร ดูแลใส่ใจความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม รวมถึงภาชนะที่ใช้ในการบรรจุอาหาร รักษาสุขอนามัยเสมอของตนเอง และผู้ดูแลอย่างเคร่งครัด หากน้ำหนักตัวลดลงควรเสริมอาหารว่างที่ให้ทั้งโปรตีนและพลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยพลังงานให้เพียงพอป้องกันน้ำหนักลดลงอีก เช่น มิลค์เชค เกี๋ยวน้ำ
เมื่อโรคสงบลง ผู้ป่วยสามารถกลับมากินอาหารปกติตามธงโภชนาการได้ แต่ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ตนเองแพ้ รวมถึงอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ อยู่ ที่สำคัญคือ ยังต้องดูแลใส่ใจสุขอนามัยของตนเอง ความสะอาดของอาหารที่รับประทาน และภาชนะบรรจุ เพื่อป้องกันโรคกำเริบซ้ำ และอาจเติมจุลินทรีย์สุขภาพจากโยเกิร์ตไขมันต่ำหรือนมเปรี้ยวสูตรหวานน้อยซักวันละ 1 ขวด เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับลำไส้ของเราอีกทาง
Resource : HealthToday Magazine, No.188 December 2016