เจ็บหน้าอกเพราะกินยา

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
16990

เมื่อไม่นานมานี้มีคุณยายคนหนึ่งมาให้หมอตรวจ โดยบ่นว่าเจ็บหน้าอกบริเวณหัวใจ อาการเจ็บหน้าอกอย่างนี้ในคนวัย 60 ปีนับว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะอาจเป็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือดที่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ถ้าไม่รักษาให้ทันท่วงที แต่อาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นได้จากหลายโรค นอกจากโรคหัวใจขาดเลือดแล้วยังอาจเกิดอาการเจ็บจากผนังหน้าอกบาดเจ็บ การอักเสบของปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดใหญ่ในช่องอกโป่งพอง ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น

การที่คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอก บ่อยครั้งหมอจึงต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมจึงจะแยกโรคให้ชัดเจนได้ เมื่อซักประวัติได้ความว่าคุณยายเป็นหวัดแล้วไปให้หมอคลินิคตรวจและจ่ายยารักษา หลังจากกินยาได้ชั่วข้ามคืน รุ่งเช้าคุณยายก็รู้สึกเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นมาอีกโรคหนึ่ง หลานสาวที่เคยอ่านเรื่องโรคหัวใจมาบ้างก็ตกอกตกใจ พาคุณยายไปให้หมอคลินิคตรวจซ้ำ หมอก็บอกให้มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจหัวใจ

คนไข้มาถึงโรงพยาบาลตอนกลางคืน หมอเวรห้องฉุกเฉินทำการตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นหัวใจ ฉายเอกซเรย์ปอดแล้วก็ยังไม่สามารถแยกโรคได้ชัด จึงได้ทำการส่งตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ ปรากฏว่าทุกอย่างที่ตรวจนั้นปกติหมด คือไม่มีโรคหัวใจ โรคปอด โรคถุงน้ำดี ประกอบกับตอนนั้นคนไข้ในห้องฉุกเฉินมีจำนวนมาก หมอยุ่งมาก จะให้คนไข้กลับบ้านก็ไม่แน่ใจว่าจะดีหรือไม่ จึงรับคนไข้ไว้ในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ

หลังจากรักษาตามอาการและดูอาการจนรุ่งเช้าของวันใหม่ คุณยายยังคงเจ็บหน้าอกแถมยังเกิดอาการท้องอืดโป่งเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างด้วย ตอนเช้าพยาบาลจึงรีบรายงานหมอว่าคนไข้มีอาการท้องอืดปวดท้องจะให้ทำไงดี  ผมไปดูแล้วซักประวัติเพิ่ม ปรากฎว่าคุณยายนอกจากจะมีอาการเจ็บหน้าอกแล้วยังมีอาการกลืนลำบาก เวลากลืนอาหารจะรู้สึกติด ๆ ที่หน้าอกเหนือลิ้นปี่ ทำให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคของหลอดอาหาร และโรคของหลอดอาหารที่ร้ายที่สุดที่มีอาการอย่างนั้นในคนไข้อายุ 60 ปีคือมะเร็งหลอดอาหาร จึงจำเป็นต้องตรวจหลอดอาหารโดยการส่องกล้อง ผลปรากฏว่าเมื่อส่องลงไปก็พบมีแผลที่หลอดอาหารตรงเหนือกระเพาะอาหารเล็กน้อย เมื่อซักประวัติเพิ่มเติมจึงได้ความว่า คนไข้เมื่อได้ยาหวัดจากร้านหมอคนแรกก็รีบกินยาเนื่องจากรู้สึกปวดหัวปวดเมื่อยตามตัว ตอนกินยากำลังอยู่ในรถยนต์ไม่มีน้ำดื่มช่วยไล่ยาลงกระเพาะ แต่เนื่องจากใจร้อนจะให้หายอาการหวัดจึงฝืนกลืนยาทั้งที่ไม่มีน้ำ

เป็นที่รู้กันว่า การกลืนยาเม็ดโดยไม่มีน้ำดื่มตามเพื่อไล่ยาสามารถทำให้เกิดแผลในหลอดอาหารเนื่องจากเม็ดยาที่แข็งไปครูดเยื่อบุหลอดอาหารให้เป็นแผลได้บ่อย ๆ  อุบัติการของโรคอย่างนี้มีเกิดขึ้นได้บ่อย แต่ส่วนมากแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ มักจะหายไปเองได้บ้างทำให้ไม่เกิดปัญหา ในรายที่มีอาการมากแล้วไม่ได้รับการรักษาบรรเทาอาการให้ถูกกับโรค คนไข้ก็จะกลืนน้ำลายตัวเองลงไปเพื่อบรรเทาอาการเจ็บแสบหน้าอกและแค้นคอ ในการกลืนน้ำลายแต่ละครั้งคนไข้ก็จะกลืนอากาศลงไปด้วยไม่มากก็น้อยทุกครั้ง เมื่อกลืนมาก ๆ เข้าอากาศก็จะไปอยู่ในลำไส้มากทำให้ท้องอืดโป่งพองขึ้นมา จึงปวดท้อง เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น และในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกมากก็อาจจะทำให้แลดูน่ากลัว เพราะมันไปคล้ายอาการโรคหัวใจขาดเลือด ทำให้ต้องเสียเวลาเสียเงินค่าตรวจและเสียอารมณ์ได้มาก การกินยาเม็ดแข็งจำเป็นต้องระมัดระวัง จำเป็นต้องดื่มน้ำตามลงไปสัก 1 แก้ว เพื่อป้องกันการระคายเคืองดังกล่าว

เมื่อพูดถึงหลอดอาหารแล้วคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักมันมากนัก หลอดอาหารเป็นทางเดินอาหารที่ติดต่อระหว่างปากกับกระเพาะอาหารโดยทอดตัวอยู่ในส่วนลึกของกลางทรวงอก ทอดอยู่หลังหัวใจ ปกติดเวลากลืนอาหาร หลอดอาหารส่วนต้นจะทำงานโดยการบังคับของเราได้ แต่หลอดอาหารส่วนปลายจะทำงานของมันเองโดยอัตโนมัติ เราไม่สามารถบังคับมันได้ เม็ดยาที่กลืนลงไปจึงลงไปตามบุญตามกรรม มันอาจจะขวางลำขูดหลอดอาหารได้ง่าย

หลอดอาหารส่วนปลายตรงที่ต่อกับกระเพาะอาหารมีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เป็นหูรูดป้องกันไม่ให้อาหาร ลม หรือกรดในกระเพาะอาหารย้อนกลับสู่หลอดอาหารขย้อนมาสู่ปากและคอได้ หรือขย้อนได้แต่น้อย ร่างกายรับได้จัดการได้ ในบางคนที่กล้ามเนื้อส่วนนี้ไม่แข็งแรงทำให้มีการขย้อนของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นมาได้บ่อย ทำให้เกิดการระคายเคื่องต่อหลอดอาหาร มีอาการเจ็บแสบหน้าอก การขย้อนของน้ำกรดถ้าเป็นบ่อย ๆ จะทำให้หลอดอาหารเป็นแผล ถ้าเป็นเรื้อรังจะเกิดแผลเป็นตีบตันกลืนอาหารลำบาก

ในบางรายที่หูรูดหลอดอาหารไม่แข็งแรงแล้วมีการขย้อนลมขึ้นมาทำให้เกิดการเรอเสียงดังได้บ่อย จนบางทีเป็นที่น่ารังเกียจของคนรอบข้าง โดยเฉพาะถ้าดื่มน้ำอัดลมเข้าไปด้วยยิ่งจะมีอาการมาก คนพวกนี้มักจะมีการขย้อนของกรดขึ้นมาในปากในคอในเวลานอน ทำให้สำลักกรดเข้าไปในหลอดลมและปอด เป็นผลให้เกิดหลอดลมอักเสบ มีอาการไอมีเสมหะ หอบหืด มีหลายรายที่แพทย์ไม่ทราบสาเหตุของการเป็นโรคหืดหอบที่เนื่องจากการขย้อนและสำลักกรดนี้ ทำให้รักษาโรคหอบหืดไม่หาย แต่เมื่อวินิจฉัยถูกต้องแล้วรักษาสาเหตุของโรคได้ถูกต้อง โรคหืดก็หายไปได้

โรคสำคัญอย่างหนึ่งของหลอดอาหารคือมะเร็งหลอดอาหารซึ่งมีอาการสำคัญคือกลืนอาหารลำบาก บางคนกลืนแล้วเจ็บ อาหารติดคอ โรคนี้ถ้ามีอาการมากแล้วมักจะหมายความว่าเป็นโรคมากแล้ว มะเร็งมักจะลุกลามไปไกล เกินกว่าที่จะผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อท่านมีอาการกลืนลำบาก อย่าได้นิ่งนอนใจ รีบไปปรึกษาแพทย์ ถ้าแพทย์คนหนึ่งรักษายังไม่หายสักที ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนหมอ ซึ่งอาจจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและถูกต้องทันการมากขึ้น

อย่าลืมบอกหมอให้ละเอียดนะครับว่า “กินยาแล้วเจ็บหน้าอก” หรือ “เจ็บหน้าอกแล้วกินยา” ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันนะครับ

Resource: HealthToday Magazine, No.195 July 2017