เทคนิคไปให้ถึงเป้าหมาย

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
1706

การตั้งเป้าหมายที่ดีมีหลักการสำคัญอยู่ 5 อย่าง ที่ภาษาอังกฤษใช้ตัวย่อว่า “SMART” โดยมีรายละเอียดแต่ละข้อดังต่อไปนี้

1. ชัดเจน (Specific)

การตั้งเป้าหมายที่ดีต้องเฉพาะเจาะจง สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนว่าอย่างไรเรียกว่าประสบความสำเร็จ ไม่เป็นนามธรรม ตัวอย่างของเป้าหมายที่ไม่ชัดเจนที่พบเห็นบ่อยเช่น “ปีนี้ฉันจะเป็นคนดีมากขึ้น” (ไม่ชัด-เพราะคนดีนิยามกว้างมาก จนไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรกันแน่ที่เรียกว่า “คนดี”) “ปีนี้จะตั้งใจเรียนมากขึ้น” (ตั้งใจเรียนยังไง มากขึ้นคือแค่ไหน?) ในทางตรงกันข้ามการตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ “ปีนี้จะอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 3 วัน วันละหนึ่งชั่วโมงตั้งแต่เปิดเทอม” (จากเดิมที่อ่านแต่ช่วงก่อนสอบ) หรือ “ปีนี้จะเก็บเงินให้ได้สองแสนบาท” เป็นต้น เป้าหมายที่ไม่ชัดเจนมักจะสร้างความสับสนว่าแปลว่าอะไร ต้องทำอย่างไร และเมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ ดังนั้นหากตั้งเป้าหมายไม่ชัดเจนแต่แรก จึงไม่แปลกที่เมื่อเวลาผ่านไปเรามักจะหลงทิศหลงทางจนไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจไว้

2. วัดได้ (Measurable)

การตั้งเป้าหมายนอกจากจะต้องชัดเจนแล้วคือต้องวัดได้ด้วย เพื่อให้รู้ว่าเมื่อไหร่คือได้ตามเป้า และรวมถึงตอนนี้เรายังห่างจากเป้าเท่าไหร่ โดยดีที่สุดควรสามารถระบุออกมาเป็นตัวเลขให้ได้ เช่น การตั้งเป้าว่า “ปีนี้จะลดน้ำหนัก” อย่างเดียวนั้นไม่พอ ควรจะชัดเจนเป็นตัวเลขไปเลย เช่น “จะลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมใน 6 เดือน” หรือจากในตัวอย่างข้อแรก ถ้าตั้งเป้าว่าปีนี้จะตั้งใจเรียน ก็ต้องชัดเจนแบบวัดได้ไปเลยว่า จะอ่านหนังสือกี่วัน วันไหนบ้าง และวันละกี่ชั่วโมง เป็นต้น

3. เป็นจริง (Realistic)

เป้าหมายที่ดีต้องเป็นจริงและเหมาะสม โดยสิ่งผิดพลาดที่พบได้บ่อยคือหลายคนมักตั้งเป้าหมายที่สูงมากจนเกินไป จนเป็นไปไม่ได้ ซึ่งไม่มีประโยชน์ และมักบั่นทอนกำลังใจในที่สุด เช่น จะลดน้ำหนัก 20 กิโลกรัมใน 2 สัปดาห์ อย่างนี้เรียกได้ว่าสูงจนเกินไป และเป็นไปไม่ได้ (ทางการแพทย์) อีกกรณีที่พบได้คือการตั้งเป้าหมายต่ำเกินไปจนเหมือนไม่ได้อะไร เช่น เทอมล่าสุดได้เกรด 2.1 แล้วตั้งเป้าว่าเทอมหน้าได้เกรด 2.2 เป็นต้น ซึ่งการตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงนี้บางครั้งอาจจะต้องปรึกษาผู้อื่นด้วย เพื่อจะได้มีคนช่วยคิดว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้เหมาะสมแค่ไหน

4. เป็นไปได้ (Achievable)

เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการตั้งเป้าหมาย นั่นคือ เป้าหมายที่ดีต้องเป็นไปได้ และเป็นไปได้ด้วยตัวของเราเองเป็นหลัก ความผิดพลาดในการตั้งเป้าหมายที่พบบ่อยคือ การตั้งเป้าในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ หรือการประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเป็นหลัก เช่น การตั้งเป้าว่า “ปีนี้จะได้เลื่อนขั้น 2 ขั้น” ซึ่งจะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นว่าหัวหน้าจะให้ใคร (หลายครั้งก็ยอมรับเถอะครับว่า ไม่ใช่อยู่ที่ผลงาน) มีคนอื่นอีกที่มีผลงานดีกว่าเราหรือไม่ เป็นต้น หรือการตั้งเป้าแบบ “ปีนี้จะมีแฟนให้ได้” ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ตัวเราฝ่ายเดียว แต่อยู่ที่อีกฝ่ายด้วย และเผลอๆ อยู่ที่โชคชะตาด้วย เพราะเราอาจไม่เจอคนที่ถูกใจเลยทั้งปีก็เป็นได้ เป้าหมายที่ดีจึงต้องเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงของตัวเราเอง เพราะคนอื่นหรือโชคลางเรามักเปลี่ยนไม่ได้

5. มีกำหนดเวลา (Time frame)

ในชีวิตจริงงานที่ไม่มีกำหนดเวลามักจะกลายเป็นงานที่ไม่ได้ทำ อันนี้เป็นเรื่องปกติ นึกภาพดูว่า หากเราเป็นคนที่ปกติจะทำงานเฉพาะเมื่อใกล้เส้นตายเสมอ การไม่มีเส้นตายยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะได้ทำ เป้าหมายที่ไม่มีกรอบเวลา จึงมักจะนำไปสู่การผ่อนผัน “เอาไว้ก่อน” “เดี๋ยวค่อยทำ” หรือที่บ่อยสุดคือ “ไว้ว่างแล้วค่อยทำ” (ซึ่งก็จะไม่เคยว่างสักที) สุดท้ายก็หมดปีพอดี ดังนั้นแล้วการตั้งเป้าหมายที่ดีควรมีกำหนดเวลาด้วยเสมอ และกำหนดเวลาไม่ควรยาวมากเกินไป เช่น จะลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมใน 1 ปี  ส่วนใหญ่ถ้าไม่ลืมก็จะไปลดกันตอนไม่ต้นปีก็สิ้นปี ดังนั้นหากกรอบเวลายาวไปอาจต้องแบ่งย่อยเป้าหมายลงมา เช่น จากลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมใน 1 ปี ก็ควรกำหนดเป็น ลดให้ได้ 2.5 กิโลกรัมในทุก 4 เดือน เป็นต้น

การตั้งเป้าหมายที่ถูกต้องจะช่วยส่งเสริมให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อเราตั้งเป้าหมายแล้วต้องพยายามไม่ลืมและทำให้ได้ตามนั้น หากไม่อยากให้มันหายไปก็ควรเขียนไว้ครับ ดีที่สุดคือเขียนเป้าหมายเราใส่กระดาษแปะไว้ข้างฝา หรือบนโต๊ะทำงานไปเลยครับ จะได้ไม่ลืม และเป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นเตือนให้เราทำสิ่งที่ตั้งใจไว้

 

Resource: HealthToday Magazine, No.179 March 2016