เส้นเลือดขอด มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย คาดว่าเกี่ยวกับฮอร์โมนของเพศหญิง ปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดขอด เช่น การกินยาคุมกำเนิด พันธุกรรม อายุที่มากขึ้น น้ำหนักเกิน การตั้งครรภ์ การยกของหนักเป็นประจำ การยืนหรือเดินนานๆ “ครู” เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้การยืนเป็นส่วนใหญ่ หลายท่านจึงมักประสบกับปัญหาเส้นเลือดขอดในภายหลัง
เส้นเลือดขอดเกิดจากความผิดปกติของระบบหลอดเลือดดำ ปกติแล้วภายในหลอดเลือดดำจะมีลิ้นเล็กๆ คอยกั้นเป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ การยืนหรือเดินนานๆ ทำให้เกิดการคั่งของเลือดบริเวณขา หลอดเลือดขยายตัว ลิ้นที่คอยกั้นเลือดจึงแยกห่างออกจากกัน ไม่สามารถปิดได้สนิท ทำให้เลือดไหลย้อนกลับมาที่หลอดเลือดดำบริเวณดังกล่าว เกิดเป็นเส้นเลือดที่โป่งพองขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดดำส่วนลึก ทำให้ความดันในหลอดเลือดดำส่วนลึกสูงขึ้น เลือดจึงไหลย้อนกลับมาที่หลอดเลือดดำส่วนตื้น เกิดเป็นเส้นเลือดที่โป่งพองขึ้น
อาการในระยะแรกอาจเห็นเป็นเส้นเลือดฝอยเล็กๆ สีเขียวหรือสีม่วง หากเป็นมากขึ้นจะเห็นเป็นเส้นเลือดที่โป่งพองนูนสีเขียวและคดงอคล้ายงู ถ้าเป็นน้อยอาจ ไม่มีอาการปวด แต่บางรายอาจจะมีอาการปวดตึงบริเวณน่อง ชา เป็นตะคริว และอาจทำให้เท้าบวมได้หลังจากยืนหรือเดินนานๆ ในผู้ที่มีอาการมากผิวหนังอาจกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำคล้ำ และมีแผลเรื้อรังที่ผิวหนังได้
การป้องกันทำได้โดยยกขาให้สูงกว่าลำตัวเวลานอน โดยนำหมอนมารองบริเวณใต้เข่าจนถึงปลายเท้า ในเวลากลางวันให้สวมถุงน่องชนิดพิเศษสำหรับการรักษาเส้นเลือดขอด เพื่อช่วยกล้ามเนื้อในการบีบรัดหลอดเลือด และป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับมาที่บริเวณขา
การรักษาเส้นเลือดขอดมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆ คือ การใช้หัวเลเซอร์และคลื่นวิทยุเข้าไปในเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบ ข้อดีคือ ไม่ต้องดมยาสลบหรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง มีแผลที่เล็กกว่ามาก และฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่ราคาสูง อีกวิธีหนึ่งคือการใช้เลเซอร์ยิงผ่านผิวหนัง แต่ใช้ได้ผลกับเส้นเลือดขอดขนาดเล็กเท่านั้น
Resource : HealthToday Magazine, No. 177 January 2016