ในปัจจุบัน หนึ่งในโรคเรื้อรังที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียคุณภาพชีวิตก็คือ “โรคไตเรื้อรัง” ไตเป็นอวัยวะที่ใช้กรองเลือดเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย โรคไตเรื้อรังจึงส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ ต้องรักษาโดยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งต้องทำเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นทางหน้าท้อง ทางหลอดเลือด หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทั้งยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียคุณภาพชีวิต หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
เนื่องจากการดำเนินโรคของโรคนี้เป็นไปอย่างช้า ๆ ไม่มีอาการใด ๆ ต้องอาศัยการตรวจสารเคมีในเลือดเท่านั้นเพื่อช่วยในการวินิจฉัย บางคนกว่าจะรู้ว่าเป็นโรคไตเรื้อรังก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งไม่มีการรักษาใดที่ทำให้โรคหายขาดได้แล้ว ต้องอาศัยการรักษาแบบประคับประคองไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิมหรือการบำบัดทดแทนไต ผมจึงอยากให้ประชาชนหันมาใส่ใจกับการป้องกันตัวเองจากโรคนี้ เริ่มจากการกำจัดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไตเรื้อรัง รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูงก็คือ ปริมาณเกลือโซเดียมในอาหาร บางคนเข้าใจว่าเกลือโซเดียมมีอยู่ในอาหารที่มีรสเค็มเท่านั้น จริง ๆ แล้วนอกจากอาหารรสเค็มและเครื่องปรุงรส เช่น เกลือแกง น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย กะปิ ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูงแม้อาจจะไม่ได้มีรสเค็ม เช่น อาหารหมักดองทุกชนิด, แฮม, ไส้กรอก, เบคอน, เนยและชีส, ปลาส้ม, แหนม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารกระป๋อง, ซีเรียล, เบเกอรี่ทุกชนิด (เนื่องจากเกลือโซเดียมมีอยู่ในผงฟูซึ่งเป็นส่วนประกอบในเบเกอรี่), ขนมขบเคี้ยวทุกชนิด, ผงชูรส และอาหารรสจัด (บางครั้งรสเค็มอาจถูกรสชาติอื่น ๆ กลบ แต่จริง ๆ แล้วมีปริมาณเกลือโซเดียมมากเช่นกัน) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ามีรายการอาหารมากมายซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากจะหลีกเลี่ยงทั้งหมด การซื้ออาหารสดมาทำกินเองที่บ้านน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งในการควบคุมปริมาณเกลือโซเดียมในอาหาร โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดปริมาณเกลือโซเดียมที่ควรบริโภคต่อวันเทียบเท่าไม่เกิน 5 กรัมของเกลือแกงหรือเพียง 1 ช้อนชาเท่านั้น ซึ่งในปริมาณนี้ต้องรวมปริมาณเกลือโซเดียมที่แฝงอยู่ในอาหารชนิดต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้วด้วย
การปรับรสชาติอาหาร ลดความเค็มลง คงไม่สามารถทำได้โดยการหันไปปรุงอาหารแบบไม่ใส่เกลือเลยในวันเดียว เพราะต่อมรับรสของเรายังชินกับรสเค็มที่กินอยู่ทุกวัน จึงควรค่อย ๆ ลดปริมาณเกลือลงที่ละน้อยจนลดได้ตามปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี และควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง โรคอ้วน ร่วมกันให้ครบถ้วนเพื่อป้องกันตนเองจากโรคไตเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นพ.กรชัย แท่งทอง (ท็อป)
มัธยมปลาย/มัธยมต้น เตรียมอุดมศึกษา/อัสสัมชัญคอนแวนต์ ลำนารายณ์
ผลงานและความสามารถพิเศษ รองประธานนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2559 และ นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องความสามารถทางศิลปะกับทักษะการผ่าตัดที่เมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย
ความสนใจและงานอดิเรก ถ่ายภาพ
ข้อมูลอ้างอิง
– http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs393/en/
– https://www.cdc.gov/diabetes/pubs/pdf/kidney_factsheet.pdf
Resource: HealthToday Magazine, No.196 AUGUST 2017