เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยประสบเหตุการณ์นั่งนาน ๆ แล้วขาเป็นเหน็บ แปลบ ๆ ยิบ ๆ จนขยับไม่ได้ไปสักระยะ แต่อาการนั้น สักพักหลังจากที่เปลี่ยนท่าทางแล้วก็มักจะดีขึ้น บางคนอาจสับสนว่าอาการนี้คือลักษณะเดียวกับอาการชา แต่ความจริงแล้วอาการเหน็บ (Tingling) เป็นคนละอย่างกับอาการชา แม้ว่ามักจะมาร่วมกันกับอาการชาจนทำให้ใครหลายคนสับสน ทว่าจริง ๆ แล้ว อาการชาเป็นอาการที่เรารับรู้ความรู้สึกในบริเวณนั้น ๆ ได้ลดลง เหมือนกับเวลาที่เราเกาหรือจับผิวหนังผ่านเสื้อผ้าหนา ๆ แล้วไม่ค่อยรู้สึกแบบนั้นค่ะ
อาการชาเกิดได้จากหลายสาเหตุ
อาการชาเกิดจากหลายสาเหตุและยังมีหลายประเภทอีกด้วยค่ะ ทั้งอาการชาเฉพาะจุด ชาแขนหรือขาข้างเดียว หรือชาเฉพาะขา แขนไม่ชา หรือชาเฉพาะแขน ไม่ชาขา หรือชาทั้งแขนและขา
โดยมากถ้าอาการชาเกิดขึ้นที่แขนหรือขาข้างเดียวมักจะเกิดจากการบาดเจ็บหรือกดทับของเส้นประสาทบริเวณนั้นแค่บริเวณเดียว เช่น การชาที่มือข้างเดียวมักจะเกิดจากการถูกกดทับของเส้นประสาทที่บริเวณข้อมือ ที่พบมากที่สุดก็คือ อาการของโรคอุโมงค์ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) ในข้อมือข้างนั้น ๆ นั่นเองค่ะ
แต่ถ้าอาการชาเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งข้าง อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่แอบซ่อนอยู่ การเกิดอาการชาที่ปลายเท้าทั้งสองข้างในลักษณะที่เหมือนกับใส่ถุงเท้านั้นเป็นลักษณะอาการของปลายประสาทผิดปกติจากโรคเบาหวานเรื้อรัง (Diabetic neuropathy) อาการหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท (Herniate disc) จะทำให้เกิดอาการชาในระดับที่ตรงกับไขสันหลังที่เกิดการกดทับ การขาดวิตามินบางชนิด เช่น E, B1, B6 และ B12 ก็จะทำให้เกิดอาการเช่นนี้ได้ แม้กระทั่งการดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน ๆ ก็ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ได้เหมือนกันค่ะ
และถึงแม้ว่าอาการชาที่ปลายมือเท้านั้นมักจะเกิดจากสาเหตุที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ก็มีบางส่วนที่เกิดจากโรคอันตราย เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตกได้เช่นกัน สำหรับอาการชาที่เกิดเนื่องจากความผิดปกติในสมองนั้นจะสังเกตได้ว่าจะมีการชาเป็นบริเวณที่เป็นซีก ๆ ไม่ว่าจะซีกขวาหรือซ้ายด้านใดด้านหนึ่ง และอาจมีอาการอ่อนแรง หยิบจับของไม่ติด หรือเดินแล้วขาหรือข้อเท้ายกไม่ขึ้นร่วมด้วย ถ้ามีอาการดังที่กล่าวมา ไม่ต้องรอสังเกตอาการ แนะนำให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วเลยค่ะ
ดูแลตัวเองจากอาการชา
การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการชาปลายมือปลายเท้านั้นไม่ยากเลย เพราะเพียงแค่เราทราบสาเหตุของอาการชาก็จะสามารถแก้ไขที่สาเหตุได้อย่างตรงจุด เช่น
- อาการชาจากภาวะเบาหวาน ถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาการชาก็มักจะค่อยๆ ดีขึ้นได้ แม้จะไม่หายในคราวเดียว แต่จะค่อย ๆ ลดระดับลงเมื่อเวลาผ่านไป
- อาการชาจากเส้นประสาทถูกกดทับ ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะที่อย่างโรคอุโมงค์ข้อมือ หรือชาเป็นระดับเพราะไขสันหลังถูกกดจากการที่มีหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท โรคเหล่านี้ควรได้พบแพทย์ เพราะอาจต้องการการรักษาที่มากกว่าแค่รับประทานยา เช่น อาจจำเป็นต้องฉีดยาหรือผ่าตัด เป็นต้น
- อาการชาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินและเป็นเวลานานนั้น คงไม่ต้องบอกก็น่าจะทราบว่าถ้าสามารถลด ละ เลิกเหล้าได้ อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
วิธีป้องกัน
เนื่องจากอาการชาเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่เราสามารถป้องกันได้ดูจะมีเพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นก็คือภาวะขาดวิตามิน E และ B 1-6-12 ที่ป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเหล่านี้ ได้แก่
- วิตามิน E เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายสามารถสะสมไว้ใช้ได้เป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน พบได้ใน
น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว และน้ำมันถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังพบได้ในธัญพืชจำพวกถั่วอีกด้วย - วิตามิน B1 หรือ Thiamine พบได้ในผักใบเขียว เนื้อสัตว์ และถั่วชนิดต่าง ๆ
- วิตามิน B6 หรือ Pyridoxone พบได้ในตับ เนื้อปลา เนื้อไก่ และธัญพืช
- วิตามิน B12 พบได้มากในตับ เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ หรือปลา ไข่ไก่และธัญพืชเองก็มีวิตามิน B12 เช่นกัน
เนื่องจากวิตามินในกลุ่มวิตามิน B เป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ทำให้ร่างกายต้องขับออกในทุก ๆ วัน การได้รับวิตามิน B อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อร่างกายค่ะ
Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018