ปวดแบบไหน ปวดไมเกรน

นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง

0
1510

โรคปวดศีรษะมีอยู่มากมายหลายประเภท ที่พบบ่อยในปัจจุบันและมีระดับความรุนแรงค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากคือ “โรคปวดศีรษะไมเกรน” ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบรับความรู้สึกปวดในสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมองส่วน hypothalamus และ brain stem ทำให้สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ โดยพบความชุกได้มากถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั่วโลก และเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไมเกรน

อาการปวดที่ศีรษะที่พบบ่อยที่สุดเป็นโรคปวดจากกล้ามเนื้อตึงตัว ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตื้อๆ ไม่รุนแรง แต่อาการปวดศีรษะจากไมเกรนจะมีความรุนแรงมากกว่า ถ้าระดับความปวดเต็ม 10 ผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่จะให้คะแนนความปวดตั้งแต่ 6-7 คะแนนขึ้นไป ในรายที่เป็นมากจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ต้องขาดเรียน ขาดงาน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

อาการปวดศีรษะจากไมเกรนจะเป็น ๆ หาย ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มากระตุ้น ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรืออาจปวดทั้งสองข้างก็ได้ ลักษณะอาการปวดจะปวดตุ๊บๆ เหมือนเส้นเลือดเต้น หากไม่ได้รักษาอาการปวดจะเป็นอยู่ได้นานประมาณ 4 ชั่วโมงถึง 3 วัน ระหว่างนั้นอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นบางอย่าง เช่น กลิ่นธูป กลิ่นควัน และกลิ่นน้ำหอม เป็นต้น

โรคปวดศีรษะไมเกรนพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า ในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงวัยอาจมีอาการแสดงที่ต่างออกไป อาการที่พบได้ในเด็กเล็กคือ คลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันเป็น ๆ หาย ๆ อย่างน้อย 4 ครั้งต่อชั่วโมง อาจเป็นติดต่อกันได้ 1-10 วัน หลังจากหายจากอาการคลื่นไส้อาเจียนแล้ว เด็กจะกลับมาเป็นปกติทุกอย่าง  เมื่อโตขึ้นอาการคลื่นไส้อาเจียนจะค่อย ๆ ลดลง เปลี่ยนเป็นอาการปวดศีรษะชัดเจนขึ้น

ในกลุ่มผู้สูงอายุ บางรายอาการปวดศีรษะดีขึ้น แต่จะมีอาการเวียนศีรษะเข้ามาแทน ซึ่งคนทั่วไปมักมองว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และไม่ได้คิดถึงไมเกรน ทำให้หลงทางในการรักษา การจะวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรนหรือไม่จึงต้องอาศัยการซักประวัติอย่างละเอียด เช่น ซักถามย้อนไปถึงวัยหนุ่มสาวว่าเคยมีอาการปวดศีรษะมาก่อนหรือไม่ หรือเคยเป็นไมเกรนมาก่อนหรือเปล่า ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยแยกโรค

วิธีคัดกรองโรคปวดศีรษะจากไมเกรน ในเบื้องต้นจะพิจารณาจากอาการที่เป็นลักษณะเด่นที่มักเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ อาการร่วมดังกล่าวใช้ตัวย่อว่า “PIN” คือ

  • Photophobia       คือ อาการไวต่อแสง ไม่อยากเห็นแสง แสงจะทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นเนื่องจากขณะปวดศีรษะสมองส่วนหลังจะไวต่อการกระตุ้นด้วยแสง
  • Impairment คือ อาการรุนแรงจนต้องหยุดพัก ไม่สามารถทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ ได้
  • Nausea คือ อาการคลื่นไส้ บางรายเป็นรุนแรง อาจมีอาเจียนได้

หากผู้ป่วยมีอาการ 2 ใน 3 ข้อนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะจากไมเกรน

ไมเกรน ไม่ใช่แค่ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะจากไมเกรนไม่ได้มีเฉพาะอาการปวดศีรษะหรือคลื่นไส้อาเจียนเท่านั้น แต่ยังมีอาการนำและอาการที่เกิดตามมาหลังจากอาการปวดศีรษะดีขึ้นแล้วอีกด้วย โดยเราสามารถแบ่งช่วงอาการที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้เป็น 4 ระยะ คือ ระยะอาการนำ อาจเกิดขึ้นก่อนอาการปวดศีรษะได้นานถึง 48 ชั่วโมง อาการที่พบ เช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด ไม่อยากพูดคุยกับใคร อารมณ์แปรปรวน อยากของหวาน ที่พบบ่อยคือมีอาการตึง ๆ บริเวณต้นคอ ระยะอาการเตือน ประมาณ 25% ของผู้ป่วยไมเกรนจะมีอาการเตือน เรียกว่า ออร่า (Aura) โดยมักพบอาการด้านการมองเห็นมากที่สุด เช่น เห็นแสงวิบวับหรือเส้นซิกแซ็ก เห็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพมืดไปอย่างช้า ๆ บางคนมีอาการชาโดยอาการจะค่อย ๆ ไล่ขึ้นมาตั้งแต่ปลายมือ แขน รอบปาก และลิ้น นอกจากนี้ยังอาจพบอาการผิดปกติทางการพูดได้เช่นกัน เช่น พูดไม่ออก พูดสลับคำ อย่างเช่นจะพูดว่า “ไปกินข้าว” ก็พูดสลับเป็น “ข้าวกินไป” เป็นต้น อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในเวลามากกว่า 5 นาที จากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะตามมา อาการเตือนมักหายไปภายใน 1 ชั่วโมง ระยะปวดศีรษะ โดยช่วงแรกอาจปวดไม่มากจากนั้นจะค่อย ๆ ปวดมากขึ้น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ระยะหลังจากปวดศีรษะ ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกมึน ๆ คิดอะไรไม่ออกไปอีกประมาณ 2-3 วัน

จะเห็นได้ว่าอาการปวดศีรษะจากไมเกรนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก การเกิดอาการในแต่ละครั้งอาจกินระยะเวลานานหลายวัน จึงอยากให้คนรอบข้างได้รับรู้และเข้าใจถึงสภาวะของโรคว่ามีความรุนแรงจริง และผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องหยุดพัก

สำหรับการรักษาในกรณีที่อาการปวดไม่รุนแรงและเป็นไม่บ่อย (ประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน) แนะนำให้รับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยควรปรึกษาวิธีใช้ยาที่ถูกต้องจากเภสัชกรประจำร้านยา ส่วนวิธีการรักษาอื่น ๆ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะ (เช่น แสงแดด การอดนอน การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น) การออกกำลังกายแบบแอโรบิค การเล่นโยคะ และการนั่งสมาธิ เป็นต้น แต่ถ้าอาการปวดยังไม่ดีขึ้น หรือเป็นถี่ขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

 

Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017