ภาวะกินเยอะผิดปกติ (Binge eating disorder)

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
21557
ภาวะกินเยอะผิดปกติ

เวลาดูภาพยนตร์ต่างประเทศ หลายคนอาจจะเคยเห็นตัวละครบางคนที่เวลาเครียดมาก ๆ แล้วจะมีพฤติกรรมการกินอาหารแบบสวาปามเข้าไปทีเดียวเยอะ ๆ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวหากเกิดขึ้นบ่อยและเป็นมาก จะถือว่าเป็นความผิดปกติของการกินชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ภาวะกินเยอะผิดปกติ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า binge eating disorder’

ภาวะกินเยอะผิดปกตินี้เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคความผิดปกติของการกิน (eating disorder) โดยพบได้ถึงร้อยละ 1.4 ถึง 2.6 ในประชากรทั่วไป ถือว่าพบได้บ่อยกว่าโรคอะนอเร็กเซียและบูลิเมียที่เป็นที่รู้จักมากกว่า ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงวัยรุ่น โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย ประมาณ 3 ต่อ 2 ภาวะนี้มีอาการเด่นคือ การมีพฤติกรรมการกินที่มากและเร็วผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ และเจ้าตัวไม่สามารถควบคุมได้

สาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการ ยกตัวอย่างเช่น

  • ความเครียด พบว่าบางคนจะมีพฤติกรรมกินเยอะผิดปกติเมื่อมีความเครียดมาก
  • ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เช่นเดียวกับความเครียด บางคนจะกินเยอะเมื่อมีอาการซึมเศร้า หรือมีความวิตกกังวล
  • การควบคุมอาหาร พบว่าในบางคนที่พยายามจะลดน้ำหนักแบบไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารน้อยมาก ๆ อาจทำให้มีพฤติกรรมกินเยอะผิดปกติได้

อาการเป็นอย่างไร?

อาการหลักของภาวะนี้คือ การมีพฤติกรรมการกินที่เยอะผิดปกติ ศัพท์การแพทย์เรียกว่า binge’ ซึ่งจะมีรูปแบบการกินเป็นดังนี้

  • กินมากผิดปกติ โดยมากกว่าปกติที่ตัวเองกิน และมากกว่าที่คนทั่วไปส่วนใหญ่กิน จนทำให้อิ่มหรืออึดอัดอย่างมาก
  • กินอาหารปริมาณมากโดยที่ไม่หิว หรือกินเยอะกว่าที่หิวไปมาก
  • กินอาหารเร็วกว่าปกติ หรือเร็วกว่าที่คนทั่วไปกิน
  • พฤติกรรมการกินเยอะมักแอบทำคนเดียว เนื่องจากรู้สึกอับอาย ไม่อยากให้คนอื่นเห็น
  • รู้สึกผิด แย่ หรือหงุดหงิดกับการกินเยอะผิดปกติของตัวเอง

โดยคนที่จะถือว่าเป็นภาวะกินเยอะผิดปกตินี้ ต้องมีพฤติกรรมการกินมากที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ อย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และเป็นต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

การกินมากผิดปกตินี้ต้องแยกจากการกินเยอะที่เป็นปกติของสังคม เช่น การไปกินบุฟเฟ่ต์ ที่คนส่วนใหญ่ก็อาจจะกินค่อนข้างเยอะกว่าปกติไปบ้าง แต่ในกรณีของภาวะกินเยอะผิดปกตินี้ การกินเยอะมักเกิดขึ้นเป็นบางเวลาโดยไม่เกี่ยวกับว่าไปกินอะไร กินแบบรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ (ส่วนใหญ่ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง) และผู้ที่เป็นจะรู้สึกไม่ดีกับพฤติกรรมการกินของตัวเองหลังกินไปแล้วอีกด้วย

โรคที่มักพบร่วม

พบว่าผู้ที่มีภาวะกินมากผิดปกตินี้ ครึ่งหนึ่งจะมีปัญหาโรคอ้วน (obesity) ร่วมด้วย หรือมีปัญหาน้ำหนักเปลี่ยนแปลงบ่อย (เช่น น้ำหนักขึ้น-ลงมากกว่า 10 กิโลกรัมในช่วงเวลาสั้น ๆ) ทำให้อาจเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง เจ็บข้อ หรือนอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูงอีกด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่ของผู้ป่วยภาวะกินเยอะผิดปกติมักมีโรคทางด้านจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล เป็นต้น

การรักษา

ปัญหาสำคัญที่สุดของภาวะนี้ก็คือ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมักซ่อนพฤติกรรมการกินของตัวเองไม่ให้ใครเห็น จึงไม่มีใครรู้ และผู้ป่วยก็มักอายที่จะมารับการรักษา หรือไม่รู้ว่าโรคนี้สามารถรักษาได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การยอมรับว่าเรามีอาการแล้วมารับการรักษากับแพทย์ นอกจากนั้นโรคนี้ก็มักจะถูกละเลย เนื่องจากแพทย์ทั่วไปส่วนใหญ่ไม่รู้จักภาวะนี้ มีการศึกษาพบว่าแม้กระทั่งในคลินิกโรคอ้วนส่วนใหญ่ (ซึ่งมีความชุกของภาวะกินเยอะผิดปกติค่อนข้างสูง) ก็ยังไม่มีการประเมินถึงความผิดปกตินี้

  • การรักษาด้วยยา ยาที่พบว่ามีประสิทธิภาพได้แก่ยา lisdexamfetamine เป็นยาในกลุ่มยารักษาโรคสมาธิสั้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยลดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติลงได้ (ยาตัวนี้ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย) ส่วนยาอื่น ๆ ที่ได้ผลได้แก่ยาต้านเศร้าในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) ที่พบว่าสามารถลดอาการได้เช่นกัน
  • การทำจิตบำบัด พบว่าการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy; CBT) สามารถช่วยลดความเครียด กังวล และช่วยปรับพฤติกรรมการกินให้ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ในผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนร่วมด้วย หรือพยายามลดน้ำหนักแบบไม่ถูกวิธี ผู้ให้การรักษาควรที่จะรักษาโรคอ้วนและแนะนำวิธีการลดน้ำหนักที่เหมาะสมไปด้วย

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018