ภาวะซึมเศร้าและความคิดฆ่าตัวตายในนักศึกษาแพทย์: ช้างที่อยู่ในห้อง

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
3309
ภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์

ในปีนี้มีข่าวที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในวงการแพทย์และการศึกษานั่นคือการฆ่าตัวตายของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีนักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตายสำเร็จหลายราย ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีที่พยายาม
ฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งน่าจะมีอีกเป็นจำนวนมากเพียงแต่ไม่เป็นข่าวและคงไม่มีการรายงานออกมา ดังนั้นในบทความนี้จึงจะขอพูดถึงภาวะซึมเศร้าและความคิดฆ่าตัวตายในนักศึกษาแพทย์ว่าพบได้บ่อยแค่ไหน สูงกว่าใน
คนทั่วไปหรือไม่ และน่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร

ภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์ พบบ่อยแค่ไหน และมากกว่าคนทั่วไปจริงหรือไม่?

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA ในปี ค.ศ. 2016 ที่ทำการรวบรวมผลการศึกษาภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์ทั่วโลกพบว่ามีความชุกเฉลี่ยเท่ากับ 27.2% และนักศึกษาแพทย์มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย 11.1% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับความชุกของภาวะซึมเศร้าของคนทั่วไปในอายุใกล้เคียงกันนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7-9% เท่านั้น เท่ากับว่านักศึกษาแพทย์มีภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 3.4 เท่าตัว ซึ่งผลการศึกษาในประเทศไทยเองก็ไม่ได้แตกต่างจากต่างประเทศสักเท่าไหร่ จากงานวิจัย 3 ชิ้นในประเทศไทยพบว่านักศึกษาแพทย์ไทยมีภาวะ
ซึมเศร้าประมาณ 20.8% ซึ่งก็ยังสูงกว่าในวัยรุ่นทั่วไปถึง 3 เท่า

อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือมีงานวิจัย 8 ชิ้น ที่ทำการวัดภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาก่อนที่จะเริ่มเรียนแพทย์ พบว่ามีภาวะ
ซึมเศร้าอยู่ในช่วงประมาณ 6-17% แต่เมื่อวัดซ้ำอีกครั้งตอนที่เรียนไปได้ 3-4 ปีพบว่าภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเป็น 18-40% หรือโดยสรุปแล้วหลังเรียนแพทย์ภาวะซึมเศร้าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนเรียนประมาณ 13.5%

เพราะอะไรนักศึกษาแพทย์ถึงเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า

สาเหตุที่น่าจะเห็นได้ชัดคือการเรียนที่หนักหน่วง ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้กันว่าการเรียนแพทย์มีเนื้อหาที่เยอะมาก และมีชั่วโมงเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น และเป็นแบบนี้ทุกวันทุกปี รวมถึงมีปิดเทอมที่สั้นกว่าคณะอื่น นอกจากเหนื่อยสมองแล้วยังมีเรื่องเหนื่อยกายอีก เพราะการทำงานในวอร์ดหลายครั้งเริ่มงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าและเลิกหลัง 6 โมงเย็น และยังมี
การอยู่เวรที่ทำให้นอนไม่พอ แต่ยังต้องไปเรียนและทำงานต่อในวันต่อไป

ปัญหาส่วนบุคคลพบว่านักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่คะแนนดีมาก่อนในช่วงมัธยมปลาย แต่เมื่อเข้าเรียนแพทย์หลายคนอาจเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ได้คะแนนน้อยลง หรือหากเทียบกับคนอื่นแล้วสู้ไม่ได้ ทำให้ปรับตัวปรับใจ
ไม่ได้ นอกจากนี้หลายคนไม่ได้อยากเรียนแพทย์ แต่พ่อแม่อยากให้เรียน หรือบางทีก็ไม่รู้จะเลือกคณะอะไร แต่เนื่องจากคะแนนถึงก็เลยเลือกเรียนแพทย์ไป ทำให้ไม่มีความชอบในวิชาที่เรียน บวกกับไม่มีเป้าหมายแรงบันดาลใจที่จะเป็นแพทย์ที่ชัดเจน พอเจอระบบการเรียนที่หนักและมีความเครียดสูงก็ยิ่งทำให้ท้อแท้ได้ง่าย

นอกจากนั้นแม้กระทั่งในนักศึกษาแพทย์เองยังมักมีทัศนคติต่อโรคทางด้านจิตเวชในทางไม่ดี จึงไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็น หรือกลัวว่าจะถูกมองว่าอ่อนแอและมีผลต่อการเรียนในอนาคต จึงทำให้มักไม่ไปรับการรักษา ซึ่งจะเห็นได้จากผลการศึกษาที่พบว่าในจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่มีภาวะซึมเศร้า มีเพียงแค่ 16% เท่านั้นที่ไปรับการรักษาทั้ง ๆ ที่เรียนอยู่ในโรงพยาบาล

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เขียนถึงคงไม่ได้ คือวัฒนธรรม “การกินหัว” หรือแนวคิดแบบ “no pain no gain” ที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างจากผู้ที่เป็นอาจารย์ ตัวอย่างคำพูดเช่น “โง่แบบนี้ ลาออกไปเหอะ”, “แค่นี้ทำไม่ได้ ไปตายซะไป๊”, “อะไร! แค่นี้ทนไม่ได้ ชีวิตนี้จะไปทำอะไรได้” หรือพฤติกรรมแบบปาแฟ้มลงพื้นหรือด่านักศึกษาต่อหน้าคนไข้ก็เคยเห็นกันมาแล้ว ซึ่งหลายครั้งมันไปไกลเกินกว่าจะเรียกว่าการอบรมสั่งสอนด้วยความปรารถนาดี สิ่งเหล่านี้ยิ่งบั่นทอนจิตใจนักศึกษาเข้าไปใหญ่ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงอาจารย์ส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่คนเพียงส่วนน้อยเหล่านี้กลับเป็นผู้ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้ง ๆ ที่การเรียนแพทย์ก็เหนื่อยทั้งกายและใจอยู่แล้ว

ผลที่ตามมาของภาวะซึมเศร้า

ผลเสียที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการฆ่าตัวตายและการพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งพบได้ค่อนข้างสูงในนักศึกษาแพทย์ นอกจากนี้การมีภาวะซึมเศร้ามักจะตามมาด้วยปัญหาการเรียนที่ตกลง รวมถึงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่แย่ลง ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นวงจรที่ทำให้แย่ลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพอเรียนได้ไม่ดีหรือสอบตก ก็ยิ่งเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งซึมเศร้ามากขึ้นไป

แนวทางแก้ไข

สิ่งแรกสุดของการแก้ไขปัญหาคือ การยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหา จากข้อมูลและผลงานวิจัยต่าง ๆ เป็นการยากที่จะปฏิเสธว่าภาวะซึมเศร้าที่สูงอย่างผิดปกติในนักศึกษาแพทย์นั้นเป็นปัญหาหรือความเปราะบางของตัวเด็กเองเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ปัญหาของระบบการศึกษาด้วย คำว่า “ช้างที่อยู่ห้อง” ที่ใช้ในชื่อเรื่อง มาจากสำนวนว่า “elephant in the room” หมายถึง ปัญหาที่เห็นชัด ๆ (เหมือนมีช้างทั้งตัวอยู่ในห้อง) แต่กลับไม่มีใครพูดถึงหรือทำเป็นมองไม่เห็น ทั้ง ๆ ที่สิ่งนี้เกิดขึ้นในคณะแพทยศาสตร์ คณะที่มีการเรียนการสอนโรคทางด้านจิตเวช

การแก้ไขเบื้องต้นน่าจะเป็นการจัดให้มีระบบคัดกรองและโปรแกรมให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันหลายสถาบันการศึกษาก็เริ่มมีระบบดังกล่าวแล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาความไม่เพียงพอของบุคลากร เนื่องจากในประเทศไทยเองยังให้ความสำคัญกับโรคทางด้านจิตเวชน้อย ในวงการการศึกษาเองจิตเวชมักถูกมองว่าเป็นวอร์ดเล็ก ๆ  (minor ward) ทำให้จำนวนจิตแพทย์และบุคลากรทางด้านนี้มีไม่เพียงพอ บางมหาลัยมีนักศึกษา 30,000-40,000 คน มีนักศึกษาในคณะแพทย์เกือบหนึ่งพันคน แต่กลับมีจิตแพทย์เพียงไม่กี่คนที่ทั้งต้องสอนและตรวจผู้ป่วยทั่วไป

ส่วนการแก้ไขในระยะยาวคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียดในนักศึกษาแพทย์อย่างจริงจัง การปรับระบบการเรียนที่ไม่เน้นแต่การสอบหรือคะแนน การสอนทักษะการรับมือกับปัญหาและความเครียด การลดตราบาปของการเป็นโรคซึมเศร้า การแก้ไขทัศนคติกับอาจารย์บางกลุ่ม การลดปัญหาการอดนอน และการสร้างโปรแกรมการป้องกันและรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับนักศึกษากลุ่มนี้น่าจะช่วยลดภาวะซึมเศร้าลงได้

 

Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018