ภาวะวิตกกังวลทั่วไป หรือ Generalized anxiety disorder (GAD) คือ การมีความวิตกกังวลที่มากเกินไปในหลายๆ เรื่อง และเป็นเกือบทุกวัน มักเกิดร่วมกับอาการทางกาย เช่น ปวดตึงกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ เป็นต้น เป็นภาวะที่พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 5-8 ในคนทั่วไป และพบว่าผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า
อาการที่เข้าข่ายภาวะวิตกกังวลทั่วไป
- วิตกกังวลอย่างมากในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรือพรุ่งนี้จะไปเที่ยวต่างจังหวัดก็กังวลว่าจะตื่นไม่ทัน
- กังวลเกือบทุกวัน และเป็นติดต่อกันหลายเดือน ข้อนี้ใช้แยกกับความกังวลแบบปกติที่คนส่วนใหญ่ก็ต้องมีกันบ้าง เช่น เมื่อใกล้สอบคนทั่วไปก็อาจจะกังวลเรื่องผลการสอบบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่พอสอบเสร็จก็มักจะหยุดกังวล แต่ในคนที่เป็นภาวะนี้จะมีเรื่องให้กังวลได้เรื่อยๆ แม้สอบเสร็จก็มักจะมีเรื่องอื่นให้กังวลอยู่ดี จึงมีอาการต่อเนื่องยาวนาน
- ความกังวลที่มากเกินมักเกิดร่วมกับอาการทางกาย เช่น
– นอนไม่หลับ ส่วนใหญ่คือเข้านอนไปแล้วแต่มักคิดนั่นกังวลนี่ทำให้หลับยาก
– ปวดตึงกล้ามเนื้อ ที่พบบ่อยคือ ปวดต้นคอ ไหล่ หลัง
– ปวดศีรษะ ลักษณะอาการคือปวดตึงๆ มักเป็นที่ขมับหรือท้ายทอย ส่วนใหญ่มักเป็นตอนบ่าย
– รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย - สมาธิไม่ดี เวลาที่เรียนหรือทำงาน หลายคนจะหลุดไปคิดเรื่องที่กังวลอยู่จนไม่สามารถจดจ่อกับงานได้
การดำเนินโรค
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและเป็นต่อเนื่องจนเรื้อรัง และอาจมีอาการมากขึ้นเป็นพักๆ ในช่วงที่ชีวิตมีความเครียด ผู้ป่วยมักเริ่มมาพบแพทย์หลังจากอายุ 20 ปี โดยส่วนใหญ่ในตอนแรกมักจะไปพบแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นด้วยอาการทางกายต่างๆ เช่น นอนไม่หลับ ปวดหัว หรือปวดกล้ามเนื้อ มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มารับการรักษากับจิตแพทย์ ภาวะนี้หากไม่ได้รับการรักษาจนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวชอื่นๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า
รักษาได้หรือไม่
ภาวะวิตกกังวลทั่วไปนี้มีวิธีรักษาอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ คือ การรักษาแบบใช้ยา และ การรักษาแบบไม่ใช้ยา
- การรักษาแบบใช้ยา พบว่ามียา 2 กลุ่มที่มีประสิทธิภาพ คือ ยาต้านเศร้า (selective serotonin reuptake inhibitor-SSRIs รวมถึงยาต้านเศร้ารุ่นใหม่ๆ) และ ยาคลายกังวล (benzodiazepines) ยาทั้ง 2 กลุ่มมีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษา ช่วยลดอาการวิตกกังวล การรักษาส่วนใหญ่ใช้เวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมักมีอาการของโรคกลับคืนมาหลังจากหยุดยา จึงต้องพิจารณาให้รับการรักษาที่ยาวนานกว่านั้น
- การรักษาแบบไม่ใช้ยา ที่พบว่าได้ผลดีก็คือ การทำจิตบำบัด (psychotherapy) โดยชนิดของจิตบำบัดที่นิยมและมีหลักฐานว่ามีประสิทธิภาพที่สุดได้แก่ จิตบำบัดแบบปรับความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) ซึ่งประกอบไปด้วยเทคนิคการผ่อนคลายและการปรับความคิด
จากการศึกษาพบว่าการทำจิตบำบัดได้ผลดีใกล้เคียงกับการใช้ยา และการรักษาโดยทำทั้งสองวิธี (กินยา + จิตบำบัด) ได้ผลดีที่สุด
Resource: HealthToday Magazine, No.181 May 2016