อาหารบำบัดเบื่ออาหาร

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
17497

อาการเบื่ออาหารเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุทางกายและสาเหตุทางจิตใจ ฉบับนี้ผู้เขียนจะขอแนะนำวิธีรับมือเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร อาจไม่เจาะจงเป็นโรค แต่เชื่อว่าเมื่ออ่านจบแล้ว ผู้อ่านจะเห็นภาพวิธีการจัดการเมื่อมีอาการอย่างแน่นอน

สาเหตุของอาการเบื่ออาหารมีด้วยกันหลายอย่าง เช่น การเจ็บป่วย เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน โรคตับ โรคไต ภาวะเบื่ออาหารจากยาบางชนิด หรือภาวะป่วยทางจิต เช่น โรคคลั่งผอมกลัวอ้วน หรือ Anorexia Nervosa เหล่านี้ล้วนทำให้เบื่ออาหารได้ทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตามควรจะรักษาที่ต้นเหตุก่อน เช่น หากมีสาเหตุจากโรคตับหรือโรคไตก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาต้นตอของอาการเบื่ออาหาร ระหว่างรักษาก็หาวิธีจัดการกับอาการเบื่ออาหารควบคู่กันไปด้วย

แก้ปัญหาเบื่ออาหารด้วยตัวเอง

  • สร้างทัศนคติที่ดี บอกกับตัวเองก่อนว่าอยากแก้ไขปัญหาอาการเบื่ออาหาร โดยอาจมองในแง่ผลเสียจากการกินอาหารน้อยเป็นระยะเวลานาน เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีแรงทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ขาดสารอาหาร สมองเสื่อม เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยพยายามปรับพฤติกรรม
  • ขยันกิน อาจแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ ทุก 2 –3 ชั่วโมง แต่ละมื้อปริมาณไม่มากเพื่อให้มีกำลังใจว่าจะสามารถกินอาหารได้หมดโดยไม่หมดความอยากซะก่อน
  • กินคำน้อยแต่แคลอรีมาก ควรเลือกอาหารที่หนึ่งคำเต็มไปด้วยพลังงานและโปรตีน เช่น เลือกข้าวผัดแทนข้าวราดแกง ปลาทอดแทนปลานึ่ง ปลาเผา ก๋วยเตี๋ยวแห้งแทนก๋วยเตี๋ยวน้ำ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง เพราะอาจกระตุ้นให้อาเจียน เสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว ที่สำคัญคือ “ย่อยยาก” ทำให้แน่นท้อง และความอยากอาหารลดลงได้
  • หิวปุ๊บกินปั๊บ ทันทีที่รู้สึกหิวควรกินอาหารทันที เพราะนี่คือนาทีทองที่ช่วยให้กินได้มากขึ้น
  • ลองเปลี่ยนเมนูบ่อย ๆ อาจช่วยเพิ่มความอยาก ลดความเบื่ออาหารได้ หรืออาจเลือกกินอาหารที่ชอบก็ได้
  • จัดจานให้สวยงาม จัดสิ่งแวดล้อมให้ดึงดูด เช่น เลือกจานสีสด ๆ แต่งอาหารให้มีสีสันน่ากิน เปลี่ยนการจัดวางโต๊ะอาหารใหม่บ้างเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี และจัดบริเวณห้องอาหารให้สะอาด อากาศถ่ายเทดี จะช่วยให้อยากอาหารมากขึ้น
  • เปลี่ยนที่กินบ้าง เช่น กินในสวน เปลี่ยนร้านอาหารใหม่ ๆ
  • หาเพื่อนกิน การกินอาหารกับเพื่อนหรือญาติช่วยให้มื้ออาหารสนุกสนานมากขึ้น ทำให้กินได้นานและมากขึ้นได้
  • รู้วิธีจัดการอารมณ์เบื่อในชีวิต เพราะอารมณ์เบื่อ ไม่ว่าจะเบื่อรถติด เบื่องาน ก็ทำให้เบื่ออาหารมากขึ้นได้ ดังนั้นอาจจัดการความเบื่อด้วยการอ่านหนังสือเล่มโปรด หรือดูหนังเรื่องโปรดก็ได้ ระหว่างทำกิจกรรมคลายเบื่อนี้อาจกินของว่างเพลิน ๆไปด้วยก็ไม่เลว เช่น ถั่ว ผลไม้ จะช่วยให้ได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้นได้แบบไม่รู้ตัว

วิธีช่วยเหลือเมื่อคนใกล้ตัวเบื่ออาหาร

คราวนี้มาถึงฝั่งคนรอบข้างกันบ้าง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ป่วยอาจไม่ได้อยากตกอยู่ในภาวะเบื่ออาหารเช่นนี้ และเราเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยผู้ป่วยได้ ดังนั้น…

  • หมั่นถามผู้ป่วยว่าอยากกินอะไร และหามาให้หากมีโอกาส วิธีนี้จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยกินอาหารได้มากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยเห็นถึงความห่วงใยที่เรามีให้
  • รู้จักสังเกตและจดจำสิ่งที่ผู้ป่วยชอบกิน เพราะบางครั้งเวลาถามถึงอาหารที่อยากกิน ผู้ป่วยอาจนึกไม่ออก หรือยังไม่มีความรู้สึกอยากมาก แต่เมื่อได้เห็นสิ่งที่ชอบตรงหน้าก็อาจจะช่วยให้กินอาหารได้มากขึ้น
  • กินเป็นเพื่อน หรือพาไปเปลี่ยนสถานที่กิน เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร และช่วยให้ผู้ป่วยกินได้นานขึ้น

หากผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหารนานร่วม 2 สัปดาห์หรือมากกว่านี้ ร่วมกับมีน้ำหนักตัวลดลงแบบไม่ได้ตั้งใจ อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการเบื่ออาหารต่อไป ไม่ควรเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณและจุดเริ่มต้นของโรคร้ายที่แอบซ่อนอยู่

ส่วนคนปกติทั่วไปนั้น หากไม่อยากเบื่ออาหารจนสุขภาพพัง ต้องรู้จักรับมือกับความเครียด และความเบื่อหน่ายในชีวิต เพราะงานวิจัยทางจิตวิทยาหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า ช่วงที่คนเรามีความเครียดและความรู้สึกเบื่อ เรามักจะกินน้อย และเลือกกินอาหารที่เน้นแป้งและไขมันมากกว่าปกติ ทำให้น้ำหนักอาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ ร่างกายอาจได้รับสารอาหารที่จำเป็นบางอย่างไม่เพียงพอแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวได้

Resource: HealthToday Magazine, No.190 February 2017