ส้ม ผลไม้รักษาโรค

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
11196

แม้ผู้เขียนชอบส้มโอเพราะเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (ดังที่ได้แนะนำไว้ใน HealthToday ฉบับที่ผ่านไปแล้ว) แต่เมื่อพิจารณาถึงความสะดวกในการซื้อมากินยามเมื่อไม่ได้อยู่ในที่พักอาศัยกลับพบว่าเป็นการประดักประเดิดมากในการพกมีดเพื่อปอกส้มโอกิน ดังนั้นผลไม้ตระกูลเดียวกับส้มโอที่หากินได้ในบ้านเราที่ผู้เขียนขอเสนอคือ “ส้ม” ซึ่งมีผลเล็กกว่าและสะดวกต่อการเลือกซื้อจากร้านค้าและสามารถกินที่ใดก็ได้

ส้ม เป็นผลไม้ในตระกูลเดียวกับส้มโอ มะกรูด และมะนาว ซึ่งถ้าโชคดีที่เลือกเป็นหรือแม่ค้ามีใจให้จะได้ผลไม้ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว อุดมไปด้วยสารต้านอนูมูลอิสระหลายชนิด พร้อมวิตามินต่าง ๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา เช่น วิตามินซี เบต้าแคโรทีน วิตามินบี ที่สำคัญคือ โฟเลต และแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เป็นต้น พร้อมกับใยอาหารที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี และที่สำคัญคือ ผลไม้ในตระกูลส้มนั้นเป็นแหล่งของ เพคติน ซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ดังกล่าวแล้วในเรื่องส้มโอ

ส้มนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งที่ปลูกในบ้านเราเอง (มักมีราคาพอกินได้สะดวกคอ) และชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศ (มักซื้อมาให้เจ้าบนสวรรค์กิน) ซึ่งมีลักษณะและรสชาติที่แตกต่างกันออกไป โดยมีผู้แนะนำว่า ควรเลือกซื้อส้มที่มีผิวเรียบเนียน เปลือกบาง เพราะอาจจะได้น้ำส้มเยอะ สำหรับส้มที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมกิน ได้แก่ ส้มเกลี้ยง ส้มเขียวหวาน ส้มจุก ส้มเช้ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีส้มซึ่งมีปลูกเฉพาะพื้นที่ เช่น ส้มแก้ว ปลูกมากในจังหวัดสมุทรสงคราม มีผลขนาดใหญ่รองจากส้มโอ ในขณะที่ส้มจี๊ดนั้นมักปลูกเป็นไม้ประดับซึ่งให้ผลสุกที่กินได้ และผลดิบใช้แทนมะนาวในหน้าแล้งได้ดี

ราคาของส้มนั้นค่อนข้างหลากหลายตามสายพันธุ์และขนาด จากเว็บ www.kasetprice.com ซึ่งให้ราคาผลไม้ต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 28 เมษายนว่า ส้มเขียวหวานมีราคา 20-50 บาทตามขนาดผล ส้มโชกุนมีราคา 25-95 บาทตามขนาดผล และส้มสายน้ำผึ้ง (ซึ่งอาจเป็นผลไม้ที่ใช้ปุ๋ยเคมีเร่งความหวานมากที่สุดชนิดหนึ่ง) มีราคา 25-95 บาทตามขนาดผล โดยที่ราคาเหล่านี้เปลี่ยนไปแบบไม่แน่ไม่นอนขึ้นกับว่าใครเป็นผู้ค้าปลีก มีข้อแนะนำการซื้อส้มในห้างสรรพสินค้าบางแห่งว่า ราคาจะถูกลงอย่างน่าดีใจในช่วงเวลาหลัง 18.00 น.

มีผู้พยายามใช้อินเตอร์เน็ตในการพรรณนาถึงสรรพคุณของส้มว่าดีต่อร่างกายอย่างไร ซึ่งเชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง จะขอยกตัวอย่างที่พอฟังได้เพราะมีงานวิจัยแล้ว เช่น ส้มนั้นแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ส้มมีวิตามินซีค่อนข้างสูงจึงช่วยในการช่วยสร้างคอลลาเจนเพื่อทดแทนส่วนที่สูญสลาย เป็นการบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส และชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้ถ้าไม่ใช้ร่างกายหนักเกินไป (เช่น ไม่ตากแดดตอนเที่ยงหรือนอนดึกเกินไป) และที่สำคัญ วิตามินซีทำให้เหงือกแข็งแรงไม่มีเลือดออกตามไรฟันเพราะได้คอลลาเจนที่ร่างกายสร้างเอง

ในช่วงที่ผู้เขียนยังสอนหนังสืออยู่นั้น จากการค้นข้อมูลเพื่อสอนนักศึกษาพบว่า มีงานวิจัยทางระบาดวิทยาซึ่งศึกษาในคนเกี่ยวกับเรื่องการกินส้มกล่าวว่า การดื่มน้ำส้มช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ดีกว่าการกินส้มทั้งผล ซึ่งฟังดูประหลาดดี เพราะการดื่มน้ำส้มนั้นทำให้ผู้ดื่มไม่ได้รับใยอาหารเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีเมื่ออ่านบทความวิจัยนั้นโดยละเอียดทำให้พบว่า คนในเมืองเล็กเมืองหนึ่งชื่อ Sun City (ซึ่งมีแดดจัดและร้อนไม่ต่างจากบ้านเรา) ในรัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกา ดื่มน้ำส้มแล้วมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนในเมืองเดียวกันที่กินส้มทั้งลูก คำอธิบายผลที่เกิดเช่นนี้คือ ในการคั้นน้ำส้มนั้นได้มีการบีบเอาน้ำมันซึ่งเป็นสารขมของผิวส้มลงไปด้วย สารขมที่ศึกษานั้นมีชนิดหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ ดี-ลิโมนีน (dLimonene)

จากการค้นข้อมูลที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำให้พบบทความกล่าวถึงแนวโน้มว่า ลิโมนีนและสารอื่นที่อยู่ในน้ำมันผิวส้มสามารถป้องกันมะเร็ง โดยอาศัยกระบวนการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายได้ (ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ในบทความชื่อ Cancer Prevention by Natural Compounds ในวารสาร Drug Metabolism and Pharmacokinetics ชุดที่ 19 เล่มที่ 4 หน้าที่ 245-263 ปี 2004) ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้นึกได้ว่า คนไทยแต่เดิมนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังค่อนข้างต่ำ (ทั้งที่บ้านเรานั้นแดดแรงเหลือคณา) อาจเป็นเพราะเรามีวัฒนธรรมการกินน้ำพริกซึ่งต้องมีการคั้นน้ำมะนาวด้วยมีด ทำให้มีการบีบเอาน้ำมันจากเปลือกมะนาวลงไปในน้ำพริก ซึ่งเป็นกลิ่นรสเฉพาะของน้ำพริกมะนาวนั่นเอง อย่างไรก็ตามสารลิโมนีนในปริมาณสูงๆ กลับถูกพิสูจน์มาแล้วว่า ก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่ใครจะเสี่ยงไปซื้อลิโมนีนสังเคราะห์ในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากิน

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงมีความกังวลเรื่องสารพิษบนผลส้ม ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะมีข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวถึงรายงานของกองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตรว่า มีสารตกค้างในตัวอย่างส้มที่เก็บมาถึงร้อยละ 97 และในบรรดาสารตกค้างเหล่านี้ที่พบมากคือ เมทามิโดฟอส โมโนโครโตฟอส ไดเมโทเอท และสารพิษอื่น ๆ อีก 5 ชนิด แต่ปริมาณสารที่พบส่วนใหญ่ อยู่ในระดับปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนดให้มีสารเหล่านี้ตกค้างได้ โดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่เปลือก มีเพียงส่วนน้อยที่พบในเนื้อส้ม ดังนั้นสิ่งที่ควรทำเมื่อซื้อส้มมากินคือ ล้างผลส้มทั้งผลในน้ำหลายหนหน่อย หรือถ้าใช้น้ำยาล้างจานช่วยก็ทำให้ชีวิตมีความเสี่ยงจากสารพิษลดลงบ้าง แต่ขอให้เข้าใจหลักการทางพิษวิทยาว่า ร่างกายที่แข็งแรงของผู้ที่ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่นั้น มักมีตับ ไต และเครื่องในอื่น ๆ ที่แข็งแรงพอทำลายสารพิษจากอาหารแต่ละวันได้ดี

 

Resource : HealthToday Magazine, No.184 August 2016