เลี้ยงลูกยุค ME

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
1271

นิตยสาร Time ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2013 ตีพิมพ์บทความเรื่อง generation me พูดถึงเด็กปัจจุบันที่มีลักษณะหลงตัวเอง รวมทั้งอาจเฉื่อยชา ขี้เกียจ เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน ทำเอาผู้ใหญ่เชื่อตามๆ กันไปว่าเด็กรุ่นใหม่แย่กว่ารุ่นตัวเอง และน่ากังวลว่าสังคมนี้คงอยู่ไม่ได้ เพราะเด็กที่เห็นแก่ตัวจะมาสนใจดูแลผู้ใหญ่ที่แก่ตัวลงไปทุกวันได้อย่างไร

อันที่จริงปรากฏการณ์ของเด็กวัยรุ่นแต่ละยุคเป็นลักษณะที่หล่อหลอมมาจากสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาหนึ่ง การเติบโตมาในยุคที่พ่อและแม่ทำงานด้วยจำนวนชั่วโมงที่มาก การเลือกมีลูกน้อยลง ครอบครัวที่เกือบครึ่งไม่ได้เป็นอย่างครอบครัวในอดีตที่เด็กโตมาพร้อมหน้าพ่อแม่ เทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความสนใจ การอยู่ในโลกของตนเองได้อย่างอิสระ อาจทำให้เด็กดูเหมือนอยู่กับความเป็นตัวตนของตนเองมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่บทสรุปว่าเด็กยุคนี้ใช้ไม่ได้ และในที่สุดเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และอาจเป็นอย่างเดียวกันกับผู้ใหญ่ที่วิตกกังวลไม่สบายใจกับการเปลี่ยนแปลงของเด็กรุ่นถัดจากเขา

ข้อสังเกตของเด็กยุค ME ที่หลงตัวเอง มีลักษณะใช้ความรู้สึกของตนเองมาก โต้ตอบความเห็นต่างอย่างรุนแรง ไม่พร้อมจะรับฟัง หมกมุ่นอยู่กับความสนใจหรือจินตนาการของตัวเอง ชื่นชอบหลงใหลในสิ่งที่ตนเองพอใจโดยไม่สนใจเหตุผล ไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น แต่อยากได้ความชื่นชมจากคนอื่นมาก บางครั้งเอาเปรียบเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายของตนเอง ดูลักษณะทั้งหมดคงมีเด็กหลายคนมีหลายอาการมากน้อยต่างกันไป ความมากน้อยของอาการเหล่านี้ถ้าถามใจพ่อแม่คงไม่อยากให้ลูกเป็นคนแบบนี้ แต่พ่อแม่อาจต้องถามตัวเองเหมือนกันว่าเราดูแลลูกแบบไหน เราเป็นตัวแบบแบบเดียวกับลูกด้วยไหม เพราะพ่อแม่ยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในการหล่อหลอมบุคลิกให้กับลูก และลูกที่มีความเป็น ME แบบหลงตัวเองย่อมกระทบกับคนเป็นพ่อแม่มากที่สุด

หากดูลักษณะของเด็ก ME ปัญหาใหญ่น่าจะมี 3 เรื่อง เรื่องแรกเป็น เรื่องสนใจตนเองมากจนถึงขนาดลุ่มหลง ไม่สามารถรับฟังมุมมองที่แตกต่าง ขาดการฟัง การใช้เหตุผล ใช้แต่อารมณ์โต้ตอบ เรื่องที่สอง สนใจเป้าหมายของตนเองจนเอาเปรียบคนอื่น เพื่อให้บรรลุสิ่งที่ตนเองคาดหวัง เรื่องที่สาม เพิกเฉยกับสิ่งอื่นที่อยู่รอบตัว หลงใหลเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจเท่านั้น ถามใจพ่อแม่ว่าเรากำลังส่งเสริมลักษณะทั้งสามแบบนี้ให้ลูกไหม

แบบที่ 1 เอาใจลูกมาก ถ้าเข้าข้างตัวเองก็คิดว่าตัวเองเอาใจใส่ลูก แต่สิ่งที่แสดงออกคือตอบสนองความรู้สึกความต้องการของลูก เช่น ลูกสามารถต่อรองได้ตลอดเวลาว่าจะทำอะไร พ่อแม่ยอมตามที่ลูกร้องขอเสมอ หรือพยายามบ้างแต่ในที่สุดลูกสามารถเรียกร้องให้ยอมได้ ข้อควรระวังสำหรับพ่อแม่ เนื่องจากทำงานหรือไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูกทำให้พ่อแม่กังวลใจ ไม่อยากขัดใจ อยากเอาใจลูกทดแทน หรือไม่มีเวลาจะค่อยๆ ใช้เหตุผล รีบตัดใจตามใจไป โดยเฉพาะตอนที่ยังเล็ก คิดว่าโตขึ้นเขาคงดีขึ้น แต่ยิ่งโตเด็กยิ่งสามารถแยกตัวเอง ไม่สนใจคนในครอบครัว สนใจเรื่องของตัวเองมากขึ้น

การเลี้ยงดูลูกให้มั่นคง พ่อและแม่ต้องตั้งสติ ไม่ว่าจะมีปัญหาส่วนตัวอะไร ให้เป็นเรื่องที่จัดการกันเองแบบผู้ใหญ่ เมื่อต้องดูแลลูก ดูด้วยสภาพร่างกายและอารมณ์ที่พร้อม ถ้าต้องขัดใจลูกเพราะเป็นสิ่งที่เขาควรเรียนรู้ ขอให้มั่นคงที่จะฝึกเขา ลูกเข้าใจความตั้งใจของพ่อแม่ที่เพียรอบรมดูแลเขามากกว่าการตามใจที่ไร้เหตุผล

แบบที่ 2 เรื่องการมีเป้าหมายที่สนใจและการหมกมุ่นในเรื่องที่ชอบจนประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรส่งเสริมให้มาก แต่ไม่ใช่เอาความคาดหวังของพ่อแม่เป็นตัวตั้ง ผลักเด็กตามความต้องการของพ่อแม่ จนในที่สุดเขาล้มเหลว หรือเขาเลือกต่อต้านด้วยการแยกตัวออก ไม่สนใจทั้งพ่อแม่และคนอื่น บางครั้งพ่อแม่ก็ใช้วิธีที่เอาเปรียบคนอื่นให้กับลูกตัวเอง เด็กเรียนรู้ว่าครอบครัวยอมรับวิธีการแบบนี้

ขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของลูก สนับสนุนตามความสนใจและศักยภาพ เด็กยุค ME มีทางเลือกในการประสบความสำเร็จได้หลากหลาย ต่างจากยุคของพ่อแม่มาก ให้เขามีความสุข ความภูมิใจในตัวเอง พ่อแม่เป็นผู้สนับสนุน และฝึกวินัยเรื่องการใช้ชีวิตให้ลูกด้วยความรัก เด็กจะมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย มีความเป็นตัวตนโดยไม่เอาเปรียบคนอื่น

แบบที่ 3 เพิกเฉยกับเรื่องรอบตัว เนื่องจากขาดโอกาสที่จะมีกิจกรรมที่หลากหลาย มีแต่เรื่องการเรียน และเรื่องใช้เวลาว่างที่ไม่มีกิจกรรมทางเลือก เด็กหันเข้าหาอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ให้ความเพลิดเพลินจนในที่สุดเป็นความสนใจเดียว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้เวลาด้วยกันในครอบครัวตั้งแต่วัยเด็กเล็กที่ทำให้เด็กสามารถมีกิจกรรมที่หลากหลาย มีความสามารถเข้ากลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน และสามารถอยู่กับตัวเองตามลำพังโดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องให้ความเพลิดเพลินตลอดเวลา ความสนใจสิ่งรอบตัวยังมาจากการพูดคุยกันของพ่อแม่ การดึงให้สนใจสังคมที่อยู่รอบตัวไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของคน สิ่งแวดล้อม ครอบครัวขยาย และที่สำคัญแบบอย่างของพ่อแม่ที่ทำกิจกรรมกับลูกเสมอ

ยุค ME เป็นยุคสมัยที่เป็นไปตามสังคม เด็กจะโตแบบ ME ที่แข็งแกร่ง เป็นตัวของตัวเองที่ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ให้สังคม หรือจะเป็น ME ที่หลงอยู่ในโลกของตนเอง พ่อแม่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงได้

ภาพประกอบโดย  วาดสุข

 

Resource : HealthToday Magazine, No.186 October 2016