อ่อนเพลีย ไม่อ่อนใจ

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร

0
2068

ความอ่อนเพลีย หรือ Fatigue ในภาษาอังกฤษ เป็นอาการที่มักจะหมายถึงความรู้สึกไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง ไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัว หรือหมดพลังงานไม่อยากจะทำอะไร เป็นอาการที่ผู้ป่วยจะรู้สึกแต่อธิบายไม่ได้ และตรวจไม่ค่อยพบ (subjective) อาการนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับร่างกายและจิตใจ แต่สิ่งที่รู้สึกมักจะเป็นอาการรวม ๆ ที่บอกไม่ถูกว่าเหตุมันเกิดที่ตรงไหนกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ส่งผลเสียต่อการเรียนหรือการทำงาน ส่งผลไปถึงในด้านครอบครัว สังคม และการใช้ชีวิตโดยรวม จะเห็นได้ว่า…ผลกระทบของความอ่อนเพลียนั้นมากกว่าที่เราคิดนะคะ

ทำไมจึงอ่อนเพลีย

ความอ่อนเพลียนั้นเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งที่เป็นโรคและไม่ใช่โรค บางครั้งก็เกิดจากจิตใจ โดยส่วนมาก…ความอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นในช่วงวัย 30-35 ปีมักมีสาเหตุที่ไม่แน่ชัด และมักจะไม่ได้มีโรคร่วม แต่ในทางกลับกัน…อาการอ่อนเพลียในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มักจะมีโรคที่ซ่อนเร้นเป็นสาเหตุของอาการอยู่ด้วย ซึ่งมักจะต้องการการวินิจฉัยและรักษาต่อไป สาเหตุที่พบบ่อยของอาการอ่อนเพลีย ได้แก่

  • การใช้ชีวิต ถ้าคุณต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน และกลับมาบ้านตอนมืดค่ำ ทำงานหักโหม กินข้าวไม่ตรงเวลา ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลียได้ทั้งสิ้น พูดโดยรวมก็คือ “การใช้ชีวิตอย่างหักโหม” นั่นเองค่ะ
  • การพักผ่อนน้อย มักมาคู่กับการใช้ชีวิตอย่างหักโหม นั่นคือ โหมงาน โหมเที่ยว ทำให้นอนน้อย นำมาซึ่งความรู้สึกอ่อนเพลีย
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ อันนี้มักจะพบในผู้สูงอายุ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ความอ่อนเพลียอาจจะเป็นอาการแรก ๆ ของโรคที่ซ่อนอยู่ หรือเป็นสัญญาณว่าโรคที่เป็นกำลังลุกลามมากขึ้น โรคที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอ่อนเพลีย ได้แก่
  • โรคของหลอดเลือดและหัวใจ อาการที่เกิดมักจะเป็นความอ่อนเพลียเมื่อต้องทำงานที่ใช้แรงแม้จะไม่มากก็ตาม เช่น เหนื่อยมากเมื่อต้องเดิน หรือขึ้นบันได หรือแม้กระทั่งทำงานบ้านง่าย ๆ อย่างกวาดบ้าน
  • อาการซีด จากสาเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พบมากในบ้านเราก็คือ “การขาดธาตุเหล็ก” และ “โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” ซึ่งจะทำให้เม็ดเลือดในร่างกายของผู้ป่วยมีจำนวนลดลง ทำให้การขนส่งสารอาหารและออกซิเจนที่จำเป็นไปยังส่วนต่าง ๆ ทำได้ยาก ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรงได้
  • โรคต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะไทรอยด์ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการเผาผลาญ เมื่อขาดฮอร์โมนนี้จะทำให้ร่างกายเผาผลาญได้ลดลง หรือการขาดฮอร์โมนเพศ เช่น ในกลุ่มวัยทอง จะทำให้เกิดความรู้สึกขาดความกระปรี้กระเปร่าไปจนถึงขั้นหมดพลังไม่อยากจะทำอะไรเลย
  • กลุ่มโรคติดเชื้อเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีอาการร่วมนอกจากอาการอ่อนเพลีย
  • กลุ่มโรคมะเร็ง
  • อาการของโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรคอารมณ์สองขั้ว ก็อาจก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้เช่นกัน
  • ยาบางชนิด เช่น ยากระตุ้นหัวใจ ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนเพลียได้

จะเห็นได้ว่าอาการอ่อนเพลียนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสาเหตุทั้งหมดเท่านั้น ผู้ป่วยและคนใกล้ตัวควรจะช่วยกันสังเกตความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจจะร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกอาการของโรคที่ซ่อนอยู่ได้มากกว่าตัวอาการอ่อนเพลียเอง

ในส่วนของการรักษาอาการอ่อนเพลียนั้นคงจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุเป็นหลัก การปรับวิธีการใช้ชีวิต การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มักจะมีส่วนช่วยให้อาการอ่อนเพลียดีขึ้น ในกลุ่มที่สงสัยว่าจะมีอาการของโรคอื่น ๆ ซุกซ่อนอยู่นั้น ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

อาการอ่อนเพลียนอกจากจะเป็นสัญญาณของโรคหลาย ๆ โรคแล้ว ยังเป็นสัญญาณของการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง หรือการใช้ชีวิตที่หักโหมเกินไป ซึ่งการใช้ชีวิตในลักษณะนี้มักจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมในระยะยาว ดังนั้น…ถ้าคุณกำลังมีอาการอ่อนเพลียก็อย่ามองข้ามนะคะ เพราะนี่อาจจะเป็นเสียงเตือนเล็ก ๆ จากร่างกายของคุณ ว่าใช้ชีวิตหนักแล้ว พักผ่อนบ้างนะ ก็เป็นได้

Resource: HealthToday Magazine, No.198 October 2017