โลกหมุนเราต้องหมุนให้ทัน

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
1399
เทคโนโลยีทางการแพทย์

เดี๋ยวนี้มีใครรู้สึกเหมือนหมอบ้างไหมครับว่า โลกเราหมุนเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก (ทั้งที่จริง ๆ แล้วเวลาก็เดินตรงตามเดิม) เลยทำให้อะไรที่คิดว่าใหม่ในตอนนี้ อีกไม่ถึง 2-3 ปีก็เอ๊าท์หรือตกยุคให้เห็นกันแล้ว ยกตัวอย่างเช่น มือถือ
ค่ายใหญ่ ๆ ที่ขยันออกมาดึงเงินในกระเป๋าของเราอยู่เรื่อย ๆ ที่เกริ่นมาถึงนี้ก็เพราะบางครั้งเราก็ต้องติดตามหรือหาข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เราทำอยู่หรืออาชีพของเราให้ทัน เรื่องที่หมอจะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องที่อ่าน
มาจากเว็บไซต์ Sciencedialy.com ซึ่งรวบรวมการศึกษาใหม่ ๆ มาให้เราได้อ่านกัน แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่า บางเรื่องก็อยู่ในขั้นทดลอง เลยอยากลองมองไปข้างหน้าว่า บทความนี้ในอีกสัก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีสักกี่เรื่องที่เริ่มนำมาใช้ได้จริง แต่ก็ถือว่าเป็นการต่อยอดแนวคิดใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ นำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ใช้หนามหอยเม่นมาเป็นส่วนประกอบในการช่วยให้กระดูกติด

จาก American Chemical Society หมอจะเกริ่นให้ฟังนะครับ เวลาคนเรากระดูกหักจากอุบัติเหตุ หรือเป็นโรคทางเนื้องอกกระดูกที่มีส่วนกระดูกหายไป ร่างกายต้องพยายามสร้างกระดูกมาทดแทน ซึ่งบางครั้งใช้เวลานานกว่าจะได้ความยาวเป็นเซนติเมตร นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามนำเอาสารที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับกระดูกมากที่สุดมาใช้
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีคนสกัด Tricalcium Phosphate จากปะการังเพื่อนำมาเป็นโครงให้กระดูกยึดเกาะ ผลปรากฏว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ดีพอ สำหรับการศึกษานี้พบว่า หนามหอยเม่นมีส่วนประกอบของ Magnesium Calcium รวมทั้งความพรุนและความแข็งแรงที่ใกล้เคียงกับกระดูกพอที่จะนำมาทำเป็นตัวเชื่อมให้กระดูกใหม่ในร่างกายมาเกาะได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูกันต่อไปครับว่า เจ้าหนามหอยเม่นนี้จะสามารถพัฒนาจนนำมาเป็นกระดูกเทียมได้หรือเปล่า

การเพาะเซลล์ผิวกระดูกอ่อนจากสเต็มเซลล์

เป็นบทความจากมหาวิทยาลัยบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สรุปความได้ว่า มีการพยายามที่จะใช้เซลล์ไขกระดูกในการพัฒนาเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน ทว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถสังเคราะห์เซลล์แต่ละชนิดให้ออกมามีเสถียรภาพเพียงพอต่อการนำไปใช้งานได้ อย่างเช่น เวลาเราเกิดอุบัติเหตุแล้วเกิดการถลอกของผิวข้อ หรือเมื่ออายุมากขึ้นแล้วเกิดผิวข้อเสื่อม เราต้องการเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่มีความเรียบมัน (ให้นึกถึงข้อไก่เวลาเรารับประทานน่องไก่ทอด) เพื่อไปทดแทน แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถสังเคราะห์หรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่พอจะให้เซลล์เปลี่ยนสภาพให้ได้ความเรียบ มัน และใช้งานได้อย่างที่ต้องการสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีในการค้นพบกระบวนการที่ทำให้สเต็มเซลล์เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบของผิวกระดูกอ่อนที่เซลล์มีความเสถียรมากขึ้น แต่ยังเป็นการทดลองในหนูทดลองเท่านั้น และเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทดลอง คิดว่าคงจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปีในการพัฒนา ก็คงต้องรอดูกันต่อไป

การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) ในการออกแบบสร้างทดแทนกระดูกที่ถูกทำลาย

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้พอจำได้คร่าว ๆ ว่า สมัยหมอยังเด็ก ๆ น่าจะช่วง ป.5-ป.6 ดูหนังเรื่องหนึ่ง พระเอกกระดูกขาหักแล้วก็โดนนำเข้าเครื่องอะไรสักอย่าง เครื่องนั้นก็จำลองกระดูกขาต้นแบบเดิมแล้วเอามาปะติดปะต่อจนพระเอกกลับมาสู้กับผู้ร้ายจนชนะ นึกไม่ถึงว่าในอีก 20 กว่าปีต่อมา เครื่องพิมพ์ 3 มิติก็ได้เข้ามามีบทบาททางเทคโนโลยีมากขึ้น มีการผนวกเข้ากับการสร้างแบบจำลองของกระดูกออกมาใช้กันแล้ว อย่างที่หมอเคยเห็นก็คือ การทำรูปแบบจำลองของกระดูกสันหลังที่คดผิดรูป (Scoliosis) ออกมาเป็นโมเดลจำลองเพื่อให้หมอผ่าตัดวางแผนการผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการดูภาพจากเอกซเรย์และภาพจากเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า ต่อไปคงมีการใช้วัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ไททาเนียม โครบอลต์โครม มาสร้างเป็นข้อกระดูกเทียมเพื่อให้เข้ากับรูปร่างผู้ป่วยแต่ละคนเป็นแน่
คงอีกไม่นานเกินรอ

การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent; AI) มาช่วยในการวินิจฉัยโรค

อันนี้เป็นข่าวที่ออกมาเมื่อปีที่แล้วนะครับ เป็นที่ฮือฮาทางการแพทย์พอสมควรที่มีหุ่นยนต์ของจีนชื่อ Xiaoyi สอบผ่านใบประกอบโรคศิลป์ของจีน ซึ่งข้อสอบนี้นักศึกษาแพทย์จีนต้องสอบให้ผ่านก่อนจึงจะได้เป็นแพทย์เต็มตัว หุ่นยนต์
ตัวนี้สามารถทำคะแนนได้ผ่านตามเกณฑ์ โดยส่วนที่หุ่นยนต์ทำคะแนนได้ดีกว่านักศึกษาแพทย์ทั่วไปก็คือ การวิเคราะห์ข้อมูลประวัติคนไข้ รวมถึงการอ่านผลเอกซเรย์ ผลเลือดต่าง ๆ เนื่องจากหุ่นยนต์ตัวนี้ถูกป้อนข้อมูลของโรค ผลเลือด ภาพเอกซเรย์ของโรคต่าง ๆ และวิธีการรักษาที่พบบ่อยมากกว่า 1,000 โรคในหน่วยความจำ จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ (ไม่รู้อีก 10 ปีข้างหน้าหมอจะตกงานไหมหนอ?) ถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอีกทางหนึ่ง ที่มาช่วยให้การรักษามีความแม่นยำมากขึ้น เหมือนอย่างฟุตบอลสมัยนี้ที่มี VAR มาช่วยเพื่อบอกว่าลูกนี้เข้าประตูแล้วหรือไม่ อีก 10 ปีข้างหน้า ไม่แน่…เราอาจจะแค่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ พิมพ์อาการเจ็บป่วย มีระบบสแกนร่างกาย ส่งข้อมูลไปโรงพยาบาล แล้วก็ได้ผลการวินิจฉัยออกมาก็ได้

อย่างไรก็ตามหมอก็ยังคิดว่าการที่คนไข้ได้มาพูดคุย ได้มาระบายความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รบกวนทางจิตใจหรือทางร่างกาย บางครั้งเพียงแค่นี้ก็ทำให้คนไข้สบายใจไปกว่าครึ่งแล้ว ตัวหมอเองก็มีความสุขทางอ้อมที่ได้ช่วยเหลือคนไข้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง เหล่านี้คงเป็นเรื่องของจิตใจ ที่บางครั้งหุ่นยนต์ที่ถึงแม้จะถูกต้องทุกอย่างและมีสมองอันชาญฉลาด แต่ก็ยังขาดอวัยวะที่เต้นอยู่บนอกข้างซ้ายอยู่ดี คงไม่มีใครล่ะมั้งที่มาโรงพยาบาลแล้วอยากนั่งคุยกับหุ่นยนต์ ที่บอกเราว่าเป็นโรคอะไร แล้วให้เราเดินไปรับยา กลับบ้าน

Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018